
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดตั้งบริษัท PSU Innovative Engineering จำกัด เพื่อส่งเสริมและผลักดันการตั้งนิติบุคคลของคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อร่วมมือกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม สร้างประโยชน์ให้กับประเทศสู่เป้าหมายในการพลิกโฉมผลงานวิจัย งานวิชาการของคณะฯ
ส่งเสริมให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณค่าทางสังคม

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำพิธีลงนามความร่วมมือ โดยมี รศ.ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและกิจการพิเศษ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนาม ซึ่งมี ดร. ทศพร ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (BIM) ในวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และ คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนางานวิศวกรรมเพื่อสนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) ร่วมสนับสนุนเงิน 1 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนการก่อตั้งบริษัท PSU Innovative Engineering จำกัด ร่วมกับ ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมสักขีพยานลงนามในพิธี


ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (BIM) ในวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และ คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนางานวิศวกรรมเพื่อสนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) กล่าวว่า “ในฐานะของศิษย์เก่าต้องการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมต่อยอดผลงานวิจัยของคณะฯ ให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีความประสงค์จะดำเนินงานทางด้านธุรกิจที่ยกระดับความรู้ และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยฯ ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถขับเคลื่อน เทคโนโลยีและนวัตกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้สร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แก่สังคม โดยองค์ความรู้จากนวัตกรรมให้กับประเทศชาติได้ เพราะส่วนหนึ่งผมอยากนำประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับองค์กร หน่วยงานต่างๆ รวมถึงประสบการณ์งานด้านวิศวกรที่มีมายาวนานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการก่อตั้ง PSU Innovative Engineering รวมถึงการดำเนินการตามแนวทางของปณิธานของพระราชบิดา คือ “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” และอยากส่งเสริมให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. แข่งขันได้ภาคอุตสาหกรรม”

ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่อยากผลักดันให้นักวิจัยและทุกคณะร่วมจัดตั้ง PSU Holding Company เพื่อจะได้ร่วมทุนกับเอกชนในการสร้างสรรค์งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่จากประสบการณ์ร่วมทุนกับบริษัทเอกชน ซึ่งในฐานะของคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และผู้อำนวนการศูนย์วิศวกรรมระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ มีความพร้อมเพื่อนำงานวิจัยจากคณะหรือทีมนักวิจัยไปต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์” ในโอกาสนี้ก็อยากเชิญทางศิษย์เก่าที่มีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนกับทางคณะฯ สามารถติดต่อสอบถามเพื่อมาร่วมพัฒนาคณะฯ รวมถึงการร่วมทุนจากงานวิจัยของคณะฯ เพื่อเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น



ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การจัดตั้ง PSU Holding Company เพื่อจะได้ร่วมทุนกับเอกชนในการสร้างสรรค์งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่จากประสบการณ์ร่วมทุนกับบริษัทเอกชน เพื่อนำงานวิจัยจากคณะหรือทีมนักวิจัยไปต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์นั้น โดยที่ผ่านมาจะพบว่ามักติดปัญหาในด้านกฎระเบียบและขั้นตอนที่มากมายจนทำให้เกิดความล่าช้า จึงเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว โดย “บริษัท พี เอส ยู โฮลดิ้ง (PSU Holding) จำกัด จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 5 ล้านบาท มีหน้าที่ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างสรรค์และนำประโยชน์ไปสู่พื้นที่ หรือประเทศชาติในภาพรวม เพราะที่ผ่านมางานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ หรืองานนวัตกรรมต่าง ๆ เมื่อทำเสร็จแล้ว ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ ก็มักจะเอาไปพัฒนายกระดับในเชิงพาณิชย์ และเชิงอุตสาหกรรมต่อ แต่สิ่งหนึ่งที่พบคืองานวิจัยหรือนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ และสังคมได้ประโยชน์น้อยมาก ดังนั้น จุดประสงค์ของการเปิดบริษัทไม่ใช่เพื่อการแข่งขันทางการค้า แต่เพื่อนำงานวิจัยไปต่อยอดใน 3 ด้าน ได้แก่ เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม และเชิงสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการร่วมทุนกับภาคเอกชนที่ให้ความสนใจจะนำงานวิจัยไปต่อยอด” รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าว

