คณะวิศวฯ ม.อ. ส่งมอบเรือเครื่องยนต์ไฟฟ้า สำหรับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชนอำเภออัมพวา
8 พฤษภาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. ได้จัดพิธีมอบส่งมอบเรือเครื่องยนต์ไฟฟ้า โครงการ จัดทำเรือหางยาวเครื่องยนต์ไฟฟ้าสำหรับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชนอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ณ บริเวณลานหน้าสระน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ ท่านรองอิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และกล่าวรายงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์.สาวิตร์ ตัณฑนุช ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร. นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทีมผู้บริหาร และบุคลากรร่วมพิธีเปิดงานในครั้งนี้
\
สรุปความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดงาน โครงการ จัดทำเรือหางยาวเครื่องยนต์ไฟฟ้าสำหรับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชนอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ดังนี้
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็พบว่าในบางพื้นที่นั้นธุรกิจการท่องเที่ยวอาจสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน ในภาพรวมของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน มักนิยมใช้เรือหางยาวในการขนส่งทางน้ำ เพราะเรือหางยาวถือเป็นสัญลักษณ์การขนส่งทางน้ำเพื่อการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันพบว่า เรือหางยาวที่ใช้เพื่อให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวยังคงเป็นเรือหางยาวแบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องยนต์แบบใช้น้ำมันสันดาปภายใน ซึ่งทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน อีกทั้งทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนทั้งทางด้านมลพิษทางเสียง คราบน้ำมันที่หลุดออกมาจากเครื่องยนต์ทำให้เกิดมลพิษในแม่น้ำลำคลองกลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมและด้อยมูลค่าของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการหรือเจ้าของเรือผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศูนย์พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าว
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก
1) เพื่อนำเสนอการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือหางยาวให้เป็นเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับให้บริการในธุรกิจท่องเที่ยวของชุมชนต้นแบบ
2) เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าสู่ชุมชนเป้าหมายในพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย
3) เพื่อทำให้เกิดตัวอย่าง (Model) ด้านการใช้พลังงานสะอาดให้แก่ชุมชนอื่นๆ ที่มีธุรกิจการท่องเที่ยวในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
4) เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับกระทรวงพลังงานในการสนับสนุนการใช้เรือหางยาวเครื่องยนต์ไฟฟ้า (พลังงานสะอาด) แทนเครื่องยนต์สันดาปภายใน