PSU Seadome
วางปะการังเทียม 555 แท่ง เกาะไข่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นพื้นที่สาธิต ฟื้นฟูทรัพยากรประมงยั่งยืน
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2560 คณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)นำโดย ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้างานวิจัยปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง โดยความเห็นชอบจากผู้นำชุมชน นายชลิต ชุมเกษียร นายกเทศบาล ต.ชุมโค นายสมศักดิ์ เพชรคีรี ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 นายสุริยันต์ สัจจวิโส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ม.5 และ นายโสพจน์ ธรรมรักษา ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร ได้นำปะการังเทียม จำนวน 555 แท่ง ไปวางบริเวณ เกาะไข่ ห่างจากฝั่งประมาณ 4 กิโลเมตร ตามโครงการ ฟื้นฟูทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ผศ.พยอม รัตนมณี กล่าวว่า จุดที่วางปะการังในครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจแล้ว เป็นพื้นที่เหมาะสม คือระดับน้ำลึกประมาณ 18 เมตร ห่างจากฝั่งไม่มาก และที่สำคัญคือ มีชุมชนที่เข้มแข็ง ที่พร้อมจะอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ในขั้นต้น ได้กำหนดไว้ให้เป็น พื้นที่สาธิตการวางปะการังเทียม เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งจะมีการติดตามวิจัยผลต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ม.อ.ได้ศึกษาวิจัยการทำปะการังเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง สร้างที่อยู่ให้สัตว์น้ำ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล จากการศึกษาวิจัยรูปแบบของปะการังเทียม ทำให้ได้ปะการังเทียมที่มีลักษณะเป็นรูปทรงโดมฐานเปิด ทำจากปูนซีเมนต์ สูงประมาณ 1 เมตร 70 เซนติเมตร หนักประมาณ 3-4 ตัน
จากการทดลองเชิงปฏิบัติการ ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี ในระยะ 3 ปี มีพื้นที่งอกใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 5 ไร่ สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ดี เป็นที่อยู่ ของ สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับข้อดีของ ปะการังรูปโดม คือ มีพื้นที่ผิวให้ยึดเกาะมาก มีพื้นที่หลบภัยของสัตว์น้ำกว้างกว่า ชนิดอื่น มีฐาน 6 เหลี่ยมที่ไม่จมลงไปในดิน และมีความแข็งแรง
ผู้วิจัย
ผศ. พยอม รัตนมณี